หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บุญบั้งไฟชาวอิสาน

มีนิทานปรัมปราที่ชาวอีสานเล่าต่อกันว่า  ณ  เมืองอินทะปัตถานคร  มีพญาเอกราชปกครองประชาราษฎร์ด้วยหลักทศพิธราชธรรม  เคารพและบูชาพญาแถนอยู่เสมอ  ต่อมาพระมเหสีมีพระโอรสชื่อพญาคันคาก  มีรูปโฉมอัปลักษณ์ผิวพรรณตะปุ่มตะปั่มคล้ายคางคก  แต่ด้วยความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม  เป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรมและขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา  ทำให้บุคลิกภาพแปรเปลี่ยนมีรูปโฉมงดงาม  ประชาชนเคารพยกย่องสรรเสริญ  จนลืมบวงสรวงพญาแถน  ขณะเดียวกัน  ณ  เมืองเชียงเหียน  อันมีพระยาขอมเป็นเจ้าครองนคร  ซึ่งมีธิดาที่สวยงดงามชื่อนางไอ่  เป็นที่หมายปองของท้าวภังคีซึ่งเป็นโอรสของพญานาคแห่งแม่น้ำโขง  แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์บางอย่างซึ่งท้างภังคีเสียชีวิตเพราะนางไอ่ทำให้พญานาคโกรธมากและใช้อิทธิฤทธิ์ถล่มเมืองเชียงเหียนจนล่มจม  แม้มีนายผาแดงพานางไอ่ขึ้นนั่งบนหลังมาหลีกหนีจนพ้นอันตราย  แต่พญานาคก็ตามทันและใช้หางตวัดทำร้ายจนนางไอ่เสียชีวิต  ฝ่ายพญาแถนรับรู้เรื่องราวจึงไม่ยอมให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำในสระโบกขรณีบนฟ้าเช่นเคย  น้ำในสระดังกล่าวจึงนิ่งไม่ล้นหรือกระฉอกลงสู่พื้นดินเช่นเคย  จึงทำให้บังเกิดความแห้งแล้งแก่โลกมนุษย์และสรรพสัตว์  ดังนั้นพญาคันคาก(คางคก) จึงยกทัพไปรบกวนพญาแถนและบังคับให้พญาแถนปฏิบัติเช่นเคยทุก ๆ ปีและทุก ๆ เดือนหก  ซึ่งพญาแถนก็ยินยอมโดยให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำที่สระโบกขรณีเช่นเคย  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องการฝนตกเมืองใดให้พญาคันคากส่งบั้งไฟไปบอกเมื่อนั้น  พญาแถนก็จะปล่อยฝนมาทันทีและตลอดเดือนเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาและเพาะปลูกตามฤดูกาล.......  นิทานข้างต้นนี้จึงเสมือนการตอกย้ำความเชื่อเรื่อง ฟ้า ขวัญ เมือง ของกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะชาวอีสาน  ซึ่งจะต้องจัดบุญประเพณีบั้งไฟทุก ๆ ปี  และเป็นที่อัศจรรย์ใจของทุกคนว่าเมื่อจุดบั้งไฟในวันใด  ตอนเย็นของวันนั้นฝนจะตกทุกครั้งไป  เรื่องนี้อาจสรุปได้อีกทางหนึ่งว่าเขม่าควันของลูกไฟดวงใหญ่ที่ทยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอาจไปจับยึดก้อนเมฆจนลอยต่ำลงและกลั่นตัวเป็นหยาดฝน โปรยลงมาตามประสงค์ของผู้มาร่วมบุญประเพณีบั้งไฟดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น